รู้ทัน โรคกระเพาะ เข้าใจอย่างละเอียด พร้อมวิธีดูแล

รู้ทัน โรคกระเพาะ เข้าใจอย่างละเอียด พร้อมวิธีดูแล

โรคใกล้ตัวที่คนทั่วไปก็สามารถเป็นโรคนี้กันได้ และหลาย ๆ คนก็อาจเป็นได้บ่อย ๆ นั่นคือโรคกระเพาะ ซึ่งอาจมีอาการได้หลายแบบ ดังนั้นวันนี้เราจะพาทุกคนไป รู้ทัน โรคกระเพาะ เข้าใจอย่างละเอียด พร้อมวิธีดูแล ซึ่งอาจเป็นการเกิดแผลในกระเพาะมักพบในวัยกลางคนเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่การเกิดแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นสามารถเกิดขึ้นได้ในคนทุกเพศและทุกวัย

สาเหตุโรคกระเพาะ

เกิดจากมีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไปร่วมกับความต้านทานต่อกรดของเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ลดลง จึงทำให้มีแผลเกิดขึ้น และปัจจุบันพบว่ายังมีปัจจัยเสริมอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดโรคได้อีก ได้แก่

1. การติดเชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobactor Pylori) ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระของผู้ติดเชื้อ เชื้อนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปฝังตัวอยู่ใต้เยื่อบุกระเพาะ ผนังกระเพาะจึงอ่อนแอลงและมีความทนต่อกรดลดลง ทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเกิดแผลได้ง่าย แผลหายช้า และเกิดแผลซ้ำได้อีก

2. รับประทานสิ่งที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะและลำไส้ เช่น ดื่มชา กาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดจำพวกแอสไพริน ยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบ ยาชุดหรือยาลูกกลอนที่มีสเตียรอยด์ เป็นต้น

3. มีอุปนิสัยการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง เช่น การรับประทานอาหารอย่างเร่งรีบ รับประทานไม่เป็นเวลาหรืออดอาหารบางมื้อ เป็นต้น

4. การสูบบุหรี่ เพิ่มโอกาสของการเป็นแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น

5. อื่น ๆ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล คิดมาก นอนไม่หลับ เครียด อารมณ์หงุดหงิด พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น

อาการหากเป็นโรคกระเพาะ

มักมีอาการปวดแสบ ปวดตื้อ จุกเสียดหรือจุกแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ อาการปวดเหล่านี้เป็นได้ทั้งเวลาก่อนรับประทานอาหารหรือหลังรับประทานอาหารใหม่ ๆ และเวลาท้องว่าง เช่น เวลาหิวข้าว ตอนเช้ามืดหรือตอนดึก ๆ ก็ปวดท้องได้เช่นกัน อาการปวดจะเป็น ๆ หาย ๆ เป็นได้วันละหลาย ๆ ครั้ง หรือตามมื้ออาหาร และแต่ละครั้งที่ปวดจะนานประมาณ 15 – 30 นาที อาการปวดจะบรรเทาลงได้ถ้ารับประทานอาหาร ดื่มนมหรือรับประทานยาลดกรด

อาการแทรกซ้อน

โรคกระเพาะถ้าได้รับการรักษาและดูแลตนเองให้ถูกต้องส่วนใหญ่เป็นแล้วจะหาย แต่ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องจนมีอาการมากและเรื้อรังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ เช่น

• เลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยสังเกตได้จากมีถ่ายอุจจาระสีดำหรืออาเจียนเป็นเลือดหรืออาเจียนมีลักษณะคล้ายผงกาแฟบดปนอยู่

• กระเพาะลำไส้เป็นแผลทะลุ โดยสังเกตได้จากมีอาการปวดท้องรุนแรงทันทีทันใด หน้าท้องแข็ง กดเจ็บ

• กระเพาะลำไส้ตีบตัน โดยสังเกตได้จากมีอาการปวดท้อง รับประทานอาหารได้น้อย อิ่มเร็ว และอาเจียนเป็นอาหารที่ไม่ย่อยหลังรับประทานอาหาร

สัญญาณเสี่ยงบอกว่าใกล้จะเป็นโรคกระเพาะ

• สัญญาณเสี่ยงเกิดโรคกระเพาะ 1

อาการปวดท้องแบบจุก ๆ แสบ ๆ เป็นลักษณะของอาการปวดที่จู่ ๆ ก็จี๊ดขึ้นมา แล้วจู่ ๆ ก็หายไปตรงบริเวณเหนือสะดือ นั่นก็คือแถว ๆ ลิ้นปี่

• สัญญาณเสี่ยงเกิดโรคกระเพาะ 2

เวลาที่หิว หรือเวลาที่อิ่มก็จะมีอาการปวดท้องทางฝั่งขวามือ อาจไม่ได้ทำให้เรารู้สึกปวดมาก หากว่ากินยาลดกรดเข้าไปก็ยังพอช่วยบรรเทาอาการได้

• สัญญาณเสี่ยงเกิดโรคกระเพาะ 3

มีอาการปวดแสบบริเวณท้อง บางครั้งก็จะเจ็บขึ้นมาถึงตรงลิ้นปี่ โดยไม่ได้เกี่ยวว่าเราจะท้องว่าง หรืออิ่มแล้ว

• สัญญาณเสี่ยงเกิดโรคกระเพาะ 4

เมื่อเวลาที่เรานอนหลับก็มีอาการปวดท้องจนทำให้ต้องตื่น เป็นอาการที่เกิดขึ้นแบบไม่แน่นอน

• สัญญาณเสี่ยงเกิดโรคกระเพาะ 5 

มีอาการปวดท้องมาก ๆ จนอาจเกิดอาการข้างเคียง คือ อาเจียน หรือบางทีถึงขั้นที่ถ่ายเป็นเลือด

การรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะ

โดยส่วนมากผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบมักจะรักษาตามอาการเป็นหลัก ซึ่งหากผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบจากการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรที่มักพบได้บ่อย แพทย์ก็จะทำการรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาคลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) , ยาอะมอกซิซิลลิน (Amoxicillin) หรือยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) เพื่อช่วยการฆ่าเชื้อ

ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบจากสาเหตุอื่น ๆ แพทย์ก็จะรักษาไปตามอาการ เพื่อเป็นการประคับประคองและช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น อาทิ จ่ายยาลดกรดในกลุ่มโปรตอน ปั๊ม อินฮิบิเตอร์ (Proton Pump Inhibitors) หรือเอช 2 รีเซพเตอร์ แอนตาโกนีสต์ (H2-Receptor Antagonist หรือ H2 Blocker) เพื่อช่วยให้เกิดการหลั่งกรดและรักษาแผลที่เกิดในกระเพาะอาหาร

นอกจากนั้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังจากการรับประทานยาในกลุ่มยาบรรเทาอาการปวด แพทย์ก็จะแนะนำให้หยุดพฤติกรรมการใช้ยาในเบื้องต้น รวมถึงทำการปรับเปลี่ยนยาที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันให้แทน อีกทั้งแพทย์ก็จะแนะนำให้หยุดพฤติกรรมที่อาจส่งผลให้อาการแย่ลง อาทิ การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน , เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมไปถึงการสูบบุหรี่

การดูแลเมื่อเป็นโรคกระเพาะ

1. รับประทานอาหารให้ตรงเวลา

2. รับประทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย และควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด

3. หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร เช่น ยาชุด ยาแก้ปวดข้อ ยาแก้ปวดแอสไพริน ยาที่มีสเตียรอยด์ น้ำอัดลม อาหารรสจัด เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ช็อคโกแลต ชา กาแฟ เป็นต้น

4. งดสูบบุหรี่

5. อาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อไม่ควรมีปริมาณมากเกินไป

6. ถ้าเครียดพยายามลดความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ทำสมาธิ การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น

7. หมั่นออกกำลังกาย

8. รับประทานยาลดกรด ยาน้ำ 1 – 2 ช้อนโต๊ะ หรือยาเม็ด 1 – 2 เม็ด (เคี้ยวก่อนกลืน) วันละ 4 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็นหลังอาหาร 1 ชั่วโมง และก่อนนอน กรณีมีอาการปวดท้องก่อนเวลายาสามารถรับประทานเพิ่มได้และควรรับประทานยาติดต่อกันนานอย่างน้อย 4 – 8 สัปดาห์

9. ถ้าปฏิบัติตามนี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่แน่นอน

10. รับประทานยาสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ

และนี่ก็เป็นการ รู้ทัน โรคกระเพาะ เข้าใจอย่างละเอียด พร้อมวิธีดูแล เพื่อไม่ให้เกิดอาการลุกลามหนักกว่าเดิม และเสี่ยงกับโรคอื่น ๆ ตามมาได้